เส้นเลือดขอดเกิดจากเลือดแข็งตัวเพื่อต้องการให้เลือดหยุดไหล การแข็งตัวของเลือดอาจจะก่อให้เกิดอันตราย 3 ประการคือ
- ทำให้ผนังหลอดเลือดบาง
- เพิ่มโอกาสในการเกิดเส้นเลือดขอด
- ทำให้การไหลเวียนของเลือดแย่ลง
การแข็งตัวของเลือดจะทำให้การไหลเวียนของเลือดอุดตันบางส่วนหรือทั้งหมดในกรณีที่เป็นรุนแรงเส้นเลือดขอดมักจะต้องทนทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ เนื่องจากจากอาการของโรคที่ไม่น่าดู ทำให้ผู้ป่วยต้องปกปิดขาของตัวเองตลอดเวลา และรักษาไม่หาย
เส้นเลือดขอด (Varicose veins) เกิดจาก สาเหตุอะไร
หลอดเลือดดำใต้ผิวหนัง ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยกล้ามเนื้อ โดยกล้ามเนื้อตรงนี้ ทำหน้าที่บีบหลอดเลือดดำ เพื่อส่งเลือดดำกลับเข้าสู่หัวใจ เมื่อหลอดเลือดดำมีความผิดปกติ ส่งผลให้เลือดไม่สามารถถูกลำเลียงกลับเข้าสู่หัวใจได้ทั้งหมด หรือเกิดการย้อนกลับของเลือดดำ ทำให้เลือดดำค้างอยู่ในหลอดเลือด จึงเกิดการขยายตัวกลายเป็นเส้นเลือดขอด
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอด
- เส้นเลือดขอดมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จากการศึกษาของนักวิจัยพบว่า อาจมีสาเหตุจากฮอร์โมนของเพศหญิงที่ทำให้ผนังหลอดเลือดคลายตัวลง ส่งผลให้มีโอกาสเกิดการรั่วของลิ้นหลอดเลือดได้มากกว่าเพศชาย
- เส้นเลือดขอดมักพบในผู้ที่เป็นโรคอ้วน และผู้หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนและน้ำหนักตัวที่มาก ส่งผลให้เลือดหมุนเวียนได้ไม่สะดวก เกิดการคั่งของเลือดโดยเฉพาะบริเวณขา
- ผู้ที่ทำอาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งนาน ๆ หรือผู้ที่ชอบนั่งไขว่ห้าง
- ผู้ที่ต้องใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน
- กรรมพันธุ์ จากการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่มีครอบครัวมีประวัติเป็นเส้นเลือดขอดมาก่อน จะมีความเสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอดสูงกว่าคนทั่วไป
- ขาดการออกกำลังกาย ทำให้เลือดไหวเวียนไม่สะดวก
- เส้นเลือดขอดมักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะวัยสูงอายุ ยิ่งอายุมากก็ยิ่งเสี่ยงสูง เนื่องจากความยืดหยุ่น และความแข็งแรงของลิ้นหลอดเลือดลดน้อยลง
อาการของเส้นเลือดขอด แบ่งออกเป็นกี่ระยะ อย่างไรบ้าง
อาการของเส้นเลือดขอด แบ่งออกเป็น 3 ระยะตามความรุนแรงของอาการ
- เส้นเลือดขอดแบบฝอย จะเห็นได้ว่าแตกเป็นเส้นเล็ก ๆ มีสีแดงหรือม่วง ในระยะนี้ผู้ที่เป็นมักจะไม่มีอาการอะไรเลย แต่อาจจะมีอาการปวดขา ปวดกล้ามเนื้อ หรือเป็นตะคริวในตอนกลางคืน
- เส้นเลือดขอดขนาดกลาง จะเริ่มเห็นเส้นเลือดโป่งพองออกมา แต่ไม่มากเท่าไหร่ ในระยะนี้ผู้ที่เป็นจะมีอาการปวดบวมที่ขาและเท้า รู้สึกร้อนบริเวณขาส่วนล่าง
- เส้นเลือดขอดขนาดใหญ่ ระยะนี้จะเห็นเส้นเลือดโป่งพองนูนออกมาเป็นขด ๆ อย่างชัดเจน มีสีเขียวผสมม่วง ผู้ที่เป็นจะมีการเจ็บปวดบริเวณเส้นเลือดที่ขอด มีการอักเสบของผิวหนัง อาจจะมีสีคล้ำกว่าบริเวณอื่น หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษา เส้นเลือดอาจจะแตกจนเป็นแผล และหากเกิดโรคแทรกซ้อนอีก อาจจะต้องสูญเสียขา หรืออาจเสียชีวิตได้
วิธีการรักษาเส้นเลือดขอดได้อย่างไรบ้าง
ปัญหาเส้นเลือดขอดจะไม่ร้ายแรงและรักษาได้ผลดี หากใส่ใจและเข้ารับการรักษาโดยเร็ว ดังนั้นเมื่อเป็นเส้นเลือดขอดควรพบแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อทำการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งทางโรงพยาบาลกรุงเทพ อุดร มีแพทย์ผู้ชำนาญการสามารถให้การรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อประสิทธิภาพของการรักษาสูงสุดแก่ผู้ป่วย
- การรักษาโดยการรับประทานยา เป็นการรักษาเพื่อลดอาการของโรคที่มีเท่านั้น แต่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้ภาวะเส้นเลือดผิดปกติหายขาดได้ จึงใช้เป็นการรักษาร่วมกับวิธีอื่นหรือเพื่อรอระหว่างผ่าตัด
- การรักษาโดยการใส่ถุงน่องทางการแพทย์ (Compressive Stocking) แนะนำให้ใช้ถุงน่องชนิดพิเศษ (Compressive stocking) เพื่อให้เลือดไหลกลับจากส่วนปลายขึ้นมาได้ดี ใช้ลดอาการของโรคร่วมกับการรักษาอื่น
- การฉีดสารเคมีที่เส้นเลือดขอด (Sclerosing Therapy) ในผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดเล็ก เพื่อให้เส้นเลือดที่ฉีดนั้นฝ่อไป
- การใช้เลเซอร์ความร้อนหรือคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radio Frequency Ablation) เป็นการผ่าตัดชนิดใหม่ โดยใช้หลักการรักษาด้วยการใส่สายขนาดเล็กใส่เข้าไปในหลอดเลือดดำแล้วอาศัยพลังงานจากเลเซอร์หรือคลื่นวิทยุความถี่สูงที่ทำให้เส้นเลือดขอดฝ่อไป โดยแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กประมาณ 2 มิลลิเมตร ชึ่งให้ผลการรักษาไม่แตกต่างจากการผ่าตัดแบบปกติ แต่ลดผลแทรกซ้อนและอาการปวดแผลหลังผ่าตัดได้
- การผ่าตัด ใช้ในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามในการรักษาด้วยการใส่สายเลเซอร์ความร้อนหรือคลื่นวิทยุความถี่สูง หลังผ่าตัดจะพันขาด้วย Elastic Bandage จากนั้นแนะนำให้ใส่ถุงน่องชนิดพิเศษต่อ และแพทย์จะนัดติดตามอาการ 1 – 2 สัปดาห์