สิว เป็นเรื่องธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และการเกิดสิวก็จะเกิดขึ้นตามใบหน้า เมื่อเกิดแล้วก็หายไป โดยอาจทิ้งรอยรอยไว้เป็นแผลเป็นรอยแดง รอยดำที่คอยกวนใจทุกครั้งเมื่อส่องกระจก โดยเฉพาะ หลุมสิว ที่หายยาก ดังนั้นเมื่อสิวขึ้นทุกครั้ง เราจะต้องดูแลรักษาสิวให้หายอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหลุมสิวตามมา โดยวันนี้เรามีวิธีการรักษามาฝากกันพร้อมแล้วเราไปดูรายละเอียดกันเลย
หลุมสิวมีกี่ประเภท?
หลุมสิวสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
1. Ice Pick Scars
เป็นลักษณะหลุมสิวที่มีรอยแผลลึก ปากแผลแคบ ขอบแผลไม่เรียบ (Jagged edge) ก้นของแผลแหลมคล้ายกับกรวย มีความลึกถึงหนังกำพร้าหรือเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง ปากแผลมีขนาดน้อยกว่า 2 มิลลิเมตร มักพบบริเวณแก้ม ถือเป็นหลุมสิวที่รักษาค่อนข้างยากและรุนแรงที่สุด โดยลักษณะรอยแผลชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
รอยแผลชนิดตื้น (Shallow Scar) มีความลึกอยู่ที่ 0.1-0.5 มิลลิเมตร
รอยแผลเป็นชนิดลึก (Deep Scar) มีความลึกมากกว่าหรือเท่ากับ 0.5 มิลลิเมตร
2. Boxcar Scar
เป็นลักษณะหลุมสิวที่มีรอยแผลกว้าง 3-4 มิลลิเมตร ปากหลุมและก้นหลุมมีความกว้างเท่า ๆ กัน ขอบหลุมสิวชัดและชัน มีทั้งแบบแผลตื้นและแบบแผลลึก รูปทรงของหลุมสิวเป็นวงกลมหรือวงรี นอกจากเกิดจากสิวแล้วยังสามารถเกิดจากแผลอีสุกอีใสได้อีกด้วย
3. Rolling Scar
เป็นลักษณะหลุมสิวที่มีรอยแผลกว้างลาดลึกลงชั้นใต้ผิว ก้นหลุมสิวโค้งลึกลงคล้ายก้นกระทะ ทำให้ผิวหนังบริเวณที่มีรอยแผลเป็นชนิดนี้มีลักษณะเหมือนคลื่น เกิดจากเนื้อเยื่อพังผืดดึงรั้งชั้นตั้งแต่หนังแท้ถึงเนื้อใต้ผิวหนังลงไป มักมีขนาดมากกว่า 4-5 มิลลิเมตร
วิธีรักษาหลุมสิว
ปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษาแผลจากหลุมสิว ดังนี้
หากมีหลุมสิวเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ต้องกังวล เพราะปัจจุบันมีวิธีรักษาหลุมสิวหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรักษาหลุมสิวด้วยตัวเอง หรือพึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อกู้ผิวหน้าให้กลับมาเรียบเนียนได้อีกครั้ง จะมีวิธีไหนบ้าง ลองมาดูกัน
1. วิธีรักษาหลุมสิวแบบธรรมชาติ
ใครที่เริ่มมีหลุมสิวฝากไว้บนใบหน้า แต่ยังไม่พร้อมหรือไม่สะดวกรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ เพราะอาจมีค่าใช้จ่ายสูง ก็ยังมีวิธีรักษาหลุมสิวแบบธรรมชาติ ด้วยวัตถุดิบที่หาได้ง่าย ๆ จากในครัว ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรอย่างใบบัวบก ว่านหางจระเข้ น้ำมันมะพร้าว ที่ช่วยสมานแผลและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน หรือใช้กรดผลไม้ เช่น หอมแดง มะนาว มะละกอสุก เพื่อแก้ปัญหารอยหลุมสิวก็ได้เช่นกัน
2. ยารักษาหลุมสิว
การรักษาด้วยยา สามารถแบ่งออกเป็นยาทาและยากิน เหมาะสำหรับรักษารอยหลุมตื้น ๆ ซึ่งมักจะเป็นรอยหลุมระดับทั่วไป
ยาทา ยาที่นำมาใช้แต้มให้ผิวตื้นขึ้นมีอยู่หลายชนิด เช่น กรดวิตามินเอ, Retin A, TCA, AHA, BHA, PHA ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยทำให้เซลล์ผิวหนังด้านบนหลุดออก พร้อมซ่อมแซมให้หลุมสิวดูตื้นขึ้น หรือเลือกใช้สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ วิตามินอี และ BHA ก็สามารถช่วยกระตุ้นเซลล์ผิวได้เช่นกัน ข้อดีของการใช้ยาทาเหล่านี้คือ ช่วยลดรอยแดง รอยดำ ส่วนข้อเสียคือ ถ้าใช้ความเข้มข้นสูงอาจเกิดการระคายเคือง แสบ แดง คัน หรือด่างขาวได้
ยากิน ยาที่สกัดจากอนุพันธ์ของวิตามินเอ หรือ Retinoids สามารถช่วยกระตุ้นคอลลาเจนให้สร้างผิวใหม่ เพื่อเติมเต็มรอยหลุม และยังช่วยควบคุมความมันได้อีกด้วย แต่เนื่องจากยาชนิดนี้เป็นยาที่มีผลต่อไขมันทั่วร่างกาย ระหว่างใช้อาจทำให้ตาแห้ง ผิวแห้ง ปากแห้งได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ อย่าไปซื้อมากินเอง
3. รักษาหลุมสิวถาวรด้วยเครื่องมือทางการแพทย์
วิธีนี้เป็นการรักษาที่เหมาะกับผู้ที่มีหลุมสิวขนาดใหญ่มาก จนยาทาและยากินก็ช่วยไม่ไหว ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผิวหนัง ร่วมกับการทายาและครีมบำรุงร่วมด้วย โดยหลัก ๆ นวัตกรรมการรักษาหลุมสิว มีดังนี้
- เลเซอร์ (Laser) มีทั้งกลุ่ม Fractional CO2, Fraxel, Fine scan, Fotona โดยกรอผิวด้านบนให้เรียบและกระตุ้นคอลลาเจนให้แผลเต็มมากขึ้น เหมาะกับหลุมสิวที่มีขอบชัด มีลักษณะเป็นหลุมลงไป หรือในกลุ่มที่มีรูขุมขนกว้าง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน ควรรักษาประมาณ 3-5 ครั้ง ทุก ๆ 4-6 สัปดาห์ หลังการรักษาจะมีสะเก็ดบาง ๆ และรอยแดง ซึ่งจะหลุดไปเองได้ แต่ระหว่างนั้นควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด และทาครีมกันแดด SPF มากกว่า 30 เพื่อปกป้องผิวที่กำลังฟื้นฟูอยู่
- คลื่นวิทยุ (Radiofrequency – RF) เป็นกลุ่มนวัตกรรมที่คล้ายกับเลเซอร์ คือปล่อยพลังงานให้เกิดความร้อนที่ชั้นผิว เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างคอลลาเจนที่ผิวชั้นล่าง ข้อดีคือ ผลข้างเคียงเรื่องหน้าแดง รวมถึงการพักฟื้นต่าง ๆ ก็จะใช้เวลาสั้นกว่ากลุ่มเลเซอร์ โดยที่ผลของการรักษาหลุมสิวไม่ค่อยต่างกัน
- ฟิลเลอร์ (Filler) เป็นการฉีดสารเติมเต็มเข้าไปใต้หลุมสิว ช่วยแก้ปัญหาหลุมสิวให้ตื้นขึ้นและกลับมาใกล้เคียงผิวเดิมของเราให้มากที่สุด เหมาะกับผู้ที่เป็นหลุมสิวชนิด Box Scar และ Rolling Scar ที่มีขนาดใหญ่ แต่ไม่ลึกมาก วิธีนี้เห็นผลรวดเร็วก็จริง แต่ไม่ถาวร เนื่องจากสารเติมเต็มจะสลายตัวไปในเวลา 6-12 เดือน
4. การเลาะพังผืดใต้ผิวหนัง
การรักษาโดยการเซาะพังผืดใต้หลุมสิว (Subcision) ส่วนใหญ่ใช้สำหรับหลุมสิวชนิด Rolling Scar โดยจะใช้เข็มขนาดเล็กเซาะทำลายพังผืดใต้แผล เพื่อกระตุ้นให้สร้างคอลลาเจน ทำให้หลุมสิวตื้นขึ้น หลังทำอาจจะมีรอยช้ำเล็กน้อย แต่จะหายได้ภายใน 1 สัปดาห์ และไม่มีแผลเป็น
5. ผ่าตัดรักษาหลุมสิว
การรักษาโดยวิธีผ่าตัดเย็บหลุมสิว (Punch Excision) เหมาะกับคนที่รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่หาย หรือเป็นหลุมสิวไม่มากนัก แต่หลุมลึกและกว้าง ซึ่งใช้เลเซอร์รักษาอย่างเดียวไม่ดี โดยแพทย์ผิวหนังจะทำการตัดหลุมสิวดังกล่าว และเย็บปิดด้วยไหมขนาดเล็ก จากนั้นจึงตัดไหมใน 5-7 วัน แผลจะหายดีใน 1 สัปดาห์ ทำเพียง 1 ครั้งเท่านั้น หลังแผลหายดีแล้วหลุมสิวที่ลึกและเป็นกล่องจะไม่มีให้เห็นอีก
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดหลุมสิว
ขณะที่เป็นสิว ต้องหมั่นทำความสะอาดผิวเพื่อลดแบคทีเรียจนนำไปสู่สิวอักเสบได้ ไม่ควรสัมผัสแรง ๆ บริเวณสิวอักเสบ เช่น บีบ แคะ ลูบ และเกา เพราะจะทำให้เส้นเลือดฝอยและเนื้อเยื่อโดยรอบถูกทำลาย ส่งผลให้มีอาการบาดเจ็บบริเวณสิวและเสี่ยงเกิดรอยดำ รอยแดง และรอยแผลเป็นหรือหลุมสิวได้