ติดเชื้อในกระเพาะอาหาร

โรคทางเดินอาหาร

โรคทางเดินอาหารหรือโรคกระเพาะอาหารมักเกิดจากการติดเชื้อในกระเพาะอาหารซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า เอชไพโลไร (H. pylori : Helicobacter pylori) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีรูปเกลียวที่มักพบในกระเพาะอาหาร ที่จะเป็นตัวทำลายกระเพาะอาหารและเนื้อเยื่อลำไส้เล็กส่วนต้นทำให้เกิดการอักเสบ แผลในกระเพาะอาหารและอาจกลายเป็นมะเร็งผ่าตัดกระเพาะอาหารได้ในอนาคต ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อดังกล่าวนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานได้ว่าร่างกายรับเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไรโดยตรงจากการสัมผัสเชื้อและนำเข้าสู่ร่างกายโดยการนำเข้าทางปาก ซึ่งรวมถึงการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย

โรคกระเพาะอาหารกับเชื้อแบคทีเรีย H.pylori เกี่ยวพันกันยังไง ?

โรคกระเพาะอาหาร หรือทางวงการแพทย์มักจะเรียกว่า โรคแผลเปปติค (Peptic ulcer) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งจะเกิดเป็นแผลบริเวณกระเพาะอาหารโดยตรง หรือเกิดเป็นแผลที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งอยู่ติดกับกระเพาะอาหาร หลังจากการรักษาแผลให้หายแล้วก็มักจะกลับมาเป็นแผลอีกเรื่อย ๆ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ในอดีตมีความเชื่อว่า โรคกระเพาะเป็นผลมาจากการที่กระเพาะอาหารมีกรดมากเกินไป แต่ปัจจุบันนี้โรคกระเพาะมักจะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อในกระเพาะอาหารโดยเชื้อที่ว่านี้มีชื่อว่า เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร หรือ เอช.ไพโลไร (Helicobacter Pylori or H. Pylori)

ปกติแล้วภายในกระเพาะอาหารของคนเราจะมีสภาพเป็นกรดอย่างแรงที่จะทำหน้าที่ทำลายแบคทีเรียไม่ให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่เนื่องจากเชื้อ เอช.ไพโลไร จะมีลักษณะพิเศษที่สำคัญคือ สามารถสร้างด่างมาหักล้างกับกรด ทำให้เชื้อนี้ สามารถอยู่และเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เป็นกรดอย่างแรงในกระเพาะอาหารได้ จนเป็นที่ยอมรับแล้วว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้นมาจากเชื้อโรคนี้ และโรคกระเพาะอาหารยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเพิ่มขึ้น 6 – 40 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีการติดเชื้อและมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น 2-6 เท่า เมื่อเทียบกับคนปกติและไม่มีการติดเชื้อ

โรคกระเพาะ มีอาการอย่างไร ?

ส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารนั้นจะมีอาการปวดท้องบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ซึ่งจะมีอาการเรื้อรังแต่จะไม่ทำให้ถึงกับสุขภาพทรุดโทรมได้ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการ จุก เสียด แน่น เจ็บ แสบ หรือร้อน โดยอาการจะสัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร หรือ ชนิดของอาหารที่รับประทานเข้าไป เช่น อาจปวดมากตอนหิว หลังอาหารอาการจะทุเลา แต่ผู้ป่วยบางคนอาการปวดเป็นมากขึ้นหลังอาหาร โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เป็นต้น บางรายอาจมีอาการปวดท้องกลางคืน

หากจะถามว่าโรคกระเพาะอาหารมีการติดต่อกันหรือไม่นั้น ต้องบอกเลยว่าจากการสันนิษฐานกันว่าการถ่ายทอดของเชื้อเกิดจากคนสู่คน โดยผ่านทางปากเชื้อนี้จะเข้าสู่ร่างกายตั้งแต่ยังเด็กและสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีอายุมากขึ้นเชื้อนี้ก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย และยังพบได้ว่ามีการระบาดค่อนข้างสูงในชุมชนที่แออัดในครอบครัวหรือสถาบันเดียวกัน

วิธีการตรวจหาเชื้อในกระเพาอาหาร ทำยังไง ?

  • การตรวจเลือด

วิธีนี้จะต้องใช้ผลจากการตรวจด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย ซึ่งเป็นการตรวจหาสารภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับเชื้อ

  • การตรวจลมหายใจ

ก่อนเข้ารับการตรวจด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยต้องรับประทานสารที่มีส่วนประกอบของโมเลกุลคาร์บอน จากนั้นแพทย์จะให้ผู้ป่วยหายใจใส่ถุง แล้วนำตัวอย่างลมหายใจไปตรวจหาร่องรอยของการติดเชื้อที่ออกมากับแอมโมเนียและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

  • การตรวจอุจจาระ

การตรวจด้วยวิธีนี้จะเป็นการเก็บตัวอย่างอุจจาระของผู้ป่วยเพื่อตรวจหาสารภูมิต้านทานหรือแอนติเจน ซึ่งบ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย H. Pylori

  • การส่องกล้อง Endoscopy

วิธีนี้แพทย์จะทำการสอดอุปกรณ์ที่มีกล้องขนาดเล็กติดอยู่บริเวณส่วนปลายเข้าไปทางปากเพื่อตรวจดูความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร โดยที่วิธีนี้สามารถตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจได้ด้วย

ภาวะแทรกซ้อน และการรักษา การติดเชื้อในกระเพาะอาหาร

การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารนั้น หากปล่อยไว้ไม่ทำการรักษาอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารซึ่งจะนำไปสู่ภาวะโรคโลหิตจางได้ กระเพาะอาหารทะลุ กระเพาะอาหารอุดตัน ทำให้อาหารไม่สามารถเคลื่อนออกจากกระเพาะอาหารได้ การติดเชื้อที่เยื่อบุช่องท้องหรือภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ และสุดท้ายนำไปสู่โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคที่ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็น

ขั้นตอนในการรักษาโรคติดเชื้อในกระเพาะอาหารนั้นจะขึ้นอยู่กับอายุและสุขภาพโดยทั่วไปของคนไข้ โดยเริ่มจากให้คนไข้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาหรือแบ่งรับประทานเป็นมื้อเล็ก ๆ เพื่อไม่ให้ท้องว่างติดต่อกันนานการแบ่งมื้ออาหารนั้นจะช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้ รวมไปถึงการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ในกระเพาะอาหาร หรือในบางรายแพทย์อาจให้ยาลดกรดร่วมด้วย เพื่อยับยั้งกรดในกระเพาะอาหารที่เป็นสาเหตุของอาการระคายเคืองและแผลในกระเพาะอาหาร

ในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียนั้นเมื่อกำจัดได้แล้ว โอกาสที่จะกลับมาเป็นแผลในกระเพาะอาหารซ้ำอีกจะลดลงไปอย่างมาก  และมีโอกาสหายขาดได้ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารไม่ต้องทุกข์ทรมาน และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาลงไปได้อย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องรักษาอยู่เรื่อย ๆ และยังลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

ข้อควรปฏิบัติเมื่อทำการรักษาโรคกระเพาะอาหารแล้ว

ผู้ป่วยบางรายที่รักษาโรคกระเพาะอาหารให้หายขาดแล้วคิดว่าจะไม่กลับมาเป็นอีก แต่นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดและคลาดเคลื่อนอย่างมาก เพราะเมื่อทำการรักษาแผลในกระเพาะให้หายขาดแล้วก็ยังมีโอกาสที่จะกลับไปเป็นซ้ำได้อีก หากไม่ระวังและปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ดังนั้นควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย
  • รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
  • รับประทานอาหารน้อย ๆ แต่บ่อย ไม่ควรรับประทานให้อิ่มจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของหมักดอง และน้ำอัดลม
  • งดสูบบุหรี่และดื่มสุรา
  • ควรผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวลทั้งหลาย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หากมีอาการแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็นถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือก ปวดท้องรุนแรง หรือเบื่ออาหาร น้ำหนักลงมาก ควรรีบไปพบแพทย์

ติดเชื้อในกระเพาะอาหาร โรคที่จะนำไปสู่โรคกระเพาะอาหาร หรือที่สุดไปจบที่การเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งทุกคนคงไม่อยากจะเป็น แต่นั่นขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตนของตัวเองด้วย เมื่อเป็นแล้วรีบรักษา เมื่อรักษาหายขาดแล้วควรปฏิบัติตามข้อแนะนำที่ให้ไว้ด้านบนก็จะไม่กลับไปเป็นอีกซึ่งการปฏิบัติตัวหลังรักษานั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก